ปลวกจัดเป็นแมลงสังคมชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในอันดับ Isoptera มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสลับซับซ้อน แบ่งออกเป็น 3 วรรณะ มีรูปร่างและหน้าที่ต่างกันชัดเจนคือ วรรณะปลวกงาน ทำหน้าที่หาอาหารและสร้างรัง วรรณะทหาร ป้องกันศัตรูที่เข้ามารบกวนประชากรในรัง และวรรณะสืบพันธุ์ ทำหน้าที่สืบพันธุ์วางไข่
แม้ว่าปลวกบางชนิดจะเป็นศัตรูที่สามารถทำลายความเสียหายให้แก่ไม้ ต้นไม้ หรือผลิตผลที่มีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบได้ แต่ในทางนิเวศวิทยาแล้ว ปลวกกว่า 80% จัดเป็นแมลงที่มีประโยชน์และมีความสำคัญต่อระบบนิเวศป่าไม้มาก โดยปลวกจัดเป็นผู้ย่อยสลายในป่าธรรมชาติ ซึ่งทำหน้าที่ร่วมกันกับเชื้อราและแบคทีเรีย พบว่าประมาณ 3 ใน 4 ของขยะธรรมชาติ เช่น ซากพืช เศษไม้ ใบไม้ ท่อนไม้ หรือต้นไม้ที่หักล้มร่วงหล่นทับถมกันอยู่ในป่า ปลวกจะทำหน้าที่ ช่วยในการย่อยสลายให้ผุพังและเปลี่ยนแปลงไปเป็นฮิวมัสหรือินทรีย์วัตถุภายในดิน ก่อให้เกิดการหมุนเวียนอย่างรวดเร็วของธาตุอาหารในดินสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินในป่า ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้
ในขบวนการย่อยสลายของปลวกจะอาศัยจุลินทรีย์พวกโปรโตซัว หรือแบคทีเรียที่อยู่ภายในกระเพาะส่วนหลังในการผลิตน้ำย่อย (enzyme) ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายสารพิษบางอย่างที่สลายตัวยากในสภาพแวดล้อมได้ นอกจากนี้ปลวกยังมีความสามารถใช้แบคทีเรียในกระเพาะจับธาตุไนโตรเจนจากอากาศมาสร้างเป็นกรดอะมิโนและสร้างโปรตีนให้ตัวมันเองได้อีกด้วย ปลวกจึงมีบทบาทเกี่ยวพันเป็นห่วงโซ่อาหารที่ซับซ้อนอยู่ในระบบนิเวศ และมีการถ่ายเทพลังงานกัน ก่อให้เกิดการเพิ่มผลผลิตของมวลชีวภาพ การทำลายหรือขุดรังปลวก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศของป่าธรรมชาติไปเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น พื้นที่เกษตรกรรม สวนป่า หรือพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ล้วนก่อให้เกิดความผิดปกติขึ้น ในขบวนการของระบบนิเวศ อัตราการย่อยสลายจะมีส่วนลดลง มีผลต่อปริมาณอินทรีย์วัตถุและปริมาณของธาตุอาหารในดินลดลง ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวมวลในระบบนิเวศที่ลำต่ำลงไป ดังนั้นปลวกจึงเป็นทรัพยากรแมลงที่มีคุณค่าต่อการอนุรักษ์ในฐานะเป็นตัวจักรสำคัญในการเป็นผู้ย่อยสลายในธรรมชาติ
วรรณะและหน้าที่ของปลวก
ปลวก นั้นเป็นแมลงที่มีชีวิตความเป็นอยู่แบบสัตว์สังคมค่ะ ปลวก มักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ภายในรัง มีนิสัยไม่ชอบแสงสว่าง แต่ชอบที่มืดและอับชื้น ประชากรปลวก นั้นมีการแยกหน้าที่กันทำงานออกไปเป็น 3 วรรณะต่าง ๆ ดังนี้คือ
1. ปลวกงาน หรือปลวกกรรมกร (วรรณะงาน) ปลวกชนิดนี้มีลักษณะตัวเล็กสีขาวนวล ไม่มีปีก ไม่มีเพศ ไม่มีตา ใช้หนวดเป็นอวัยวะรับความรู้สึกคลำทาง ปลวกงานนั้นมีหน้าที่หาอาหาร ทำรัง ซ่อมแซมบำรุงรัง ทำความสะอาดรัง เพาะเลี้ยงเชื้อรา และทำลายซากตายของปลวกตัวอื่น ๆ นอกจากนั้นยังต้องหาอาหารเพื่อป้อนตัวอื่น และป้อนแก่แม่หรือนางพญาปลวกด้วย ซึ่งนางพญาปลวกนั้น ส่วนท้องจะใหญ่มากขึ้นและเดินไปไหนไม่ได้มากนัก
2. ปลวกทหาร (วรรณะทหาร) เป็นปลวกที่มีหัีวโต สีเข้ม ไม่มีปีก ไม่มีตา แต่มีกรามขนาดใหญ่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคีมที่มีปลายแหลมคมเพื่อใช้ในการต่อสู้ ปลวกทหารนั้นจะทำหน้าที่ป้องกันภัยจากแมลงอื่น ๆ เช่น มด และแมลงใดก็ตามที่จะรุกรานรังของมัน และมีหน้าที่ดูแลไข่ปลวก ไข่ปลวกนั้นจะมีลักษณะยาวรี และอาจจะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ ปลวกนั้นออกไข่เป็นฟองนะคะ และจะถูกนำไปเรียงโดยปลวกงาน ซึ่งในระยะแรกของรังไข่ จะได้รับการดูแลโดย Queen และ King ก่อนที่ไข่จะออกเป็นตัวใน 30-80 วันต่อมาค่ะ
3. ปลวกพันธุ์ (วรรณะสืบพันธุ์) ปลวกวรรณะนี้จะทำหน้าที่ผสมพันธุ์ขยายพลเมืองปลวก โดยแบ่งออกได้อีก 3 ประเภทคือ
- ปลวกตัวแม่และตัวพ่อ
- แมลงเม่าหรือปลวกที่พร้อมจะออกไปสร้างอาณาจักรใหม่
- ปลวกพันธุ์สำรอง